ท้องผูก ไม่ขับถ่ายหลายวัน ระวังอาการเตือน “โรคขี้เต็มท้อง” | SE Life
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  ท้องผูกไม่ถ่ายหลายวัน ระวังอาการเตือน “โรคขี้เต็มท้อง”

ท้องผูกไม่ถ่ายหลายวัน ระวังอาการเตือน “โรคขี้เต็มท้อง”

23 พ.ย. 2565

แชร์:

Facebook Icon Twitter Icon Line Icon
จากกรณีศึกษาของนักร้องสาว “ตุ๊กตา จมาพร แสงทอง” จากเวทีดังอย่าง The Voice Thailand ที่ออกมาบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับโรคประหลาดที่หลายๆคนมักไม่คุ้นหรือรู้จักอย่าง “โรคขี้เต็มท้อง” ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปและบ่อยมาก แต่กลับไม่ค่อยมีคนรู้จักโรคนี้มากเท่าไหร่นัก ทำให้ไม่มีการป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี จนเรื้อรังและเป็นสาเหตุทำให้มีอุจจาระสะสมตกค้างอยู่เต็มท้องนั่นเอง

โรคขี้เต็มท้อง หรือ ภาวะอุจจาระอุดตัน คืออะไร

โรคขี้เต็มท้อง หรือ ภาวะอุจจาระอุดตัน (Chronic Constipation) คือ ภาวะอาการท้องผูกอย่างรุนแรง มีอุจจาระแห้งเนื่องจากการสูญเสียน้ำ และฝังตัวแน่นอยู่บริเวณลำไส้เป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อมีอุจจาระใหม่เข้ามาก็ไม่สามารถขับอุจจาระเก่าออกไปได้ จนกลายเป็นอุจจาระที่แข็งและสะสมอยู่ในลำไส้ ส่งผลให้มีอาการท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ หายใจติดขัด แน่นท้อง ซึ่งโรคนี้มักพบได้บ่อยเกือบร้อยละ 30 ของประชาชนทั่วไป และพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า แต่ถึงอย่างนั้นโรคขี้เต็มท้องก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แม้จะมีสุขภาพที่ดีหรือขับถ่ายเป็นเวลาก็ตาม

ใครบ้างที่ต้องระวัง และเสี่ยงเป็นโรคขี้เต็มท้อง

  • ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ จึงทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบ่อย โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ ถ้าเกิดเป็นพังผืด อาจทำให้มีอุจจาระเข้าไปตกค้างตามซอกหลืบต่างๆ ได้ง่าย
  • ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคท้องผูก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสะสมจนมีอาการรุนแรงขึ้นได้
  • ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง อาจทำให้ลำไส้เกิดความผิดปกติ จากการกดทับหรือลำไส้มีลักษณะการขดตัวที่แคบเกิดไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบขับถ่ายแย่ลง

สาเหตุของโรคขี้เต็มท้อง

ภาวะอุจจาระตกค้าง เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
  1. ท้องผูกที่เกิดจาก “การอุดตันในทางเดินอาหาร” คือ การมีสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปขัดขวาง หรือกดทับระบบทางเดินอาหาร เช่น เนื้องอก หรือ ก้อนมะเร็งที่อยู่บริเวณปลายลำไส้ใหญ่ รวมไปถึงการทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย ทําให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ บางครั้งอาจเกิดจากลักษณะของลำไส้ใหญ่ในช่องท้องมีมุมที่แคบเกินไป ทำให้ระบบทางเดินอาหารถ่ายเทไม่สะดวก หรือการใช้ยาที่มีคุณสมบัติลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นเวลานาน เช่น ยากลุ่ม calcium channel blockers ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาแก้ปวดกลุ่ม narcotics และยาลดกรด เป็นต้น หรือโรคต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคได้รับผลกระทบกับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคไทรอยด์
  2. ท้องผูกจาก “ลักษณะพฤติกรรมที่ผิด” หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งพบได้บ่อยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดสภาวะท้องผูก เช่น
    2.1 การดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือดื่มน้ำน้อย
    2.2 การไม่รับประทานผัก ผลไม้ หรือกลุ่มอาหารที่มีกากใย ทำให้ไม่มีการชำระล้างลำไส้
    2.3 การรับประทานอาหารประเภท แป้ง ไขมัน และน้ำตาลมากจนเกินไป
    2.4 การออกกำลังกายที่น้อยเกินไป จึงขาดการกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย
    2.5 การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี ซึ่งเกิดจากการทํางานไม่ประสานกันของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเบ่งอุจจาระ เมื่อมีแรงเบ่งที่ไม่มากพอ อุจจาระก็ไม่สามารถเคลื่อนตัวออกมาได้
    2.6 การกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ในระหว่างการเดินทาง การประชุม หรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทันที ในขณะรู้สึกปวดได้ จึงต้องกลั้นอุจจาระไว้

อาการของโรคขี้เต็มท้อง

สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคขี้เต็มท้องได้ คือเมื่อใดที่คุณเริ่มรู้สึกว่าการขับถ่ายเป็นเรื่องยาก หรือต้องใช้เวลาในการขับถ่ายครั้งละนานๆ หลายชั่วโมง หรือต้องพยายามเบ่งอุจจาระให้ออก จนบางครั้งต้องใช้น้ำช่วยฉีด หรือใช้นิ้วช่วยล้วงออกมา ถ้ารู้สึกถ่ายไม่สุดแบบนี้ อาจเป็นเพราะมีอะไรมาอุดไว้อยู่ในลำไส้ก็เป็นได้ ให้คุณลองสังเกตตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ เพื่อตรวจเช็กสภาพร่างกายกัน
  • ปวดท้องแบบบีบๆ
  • แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ขับถ่ายไม่สะดวก ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระ
  • ลักษณะของอุจจาระเป็นก้อนเล็ก แข็ง
  • มีความรู้สึกเจ็บทวารหนัก
  • หลังจากการขับถ่ายอุจจาระ จะมีเลือดออกบริเวณขอบทวารหนัก
  • หลังจากการขับถ่ายอุจจาระ จะรู้สึกว่าขับถ่ายอุจจาระออกไม่หมด
  • มีความรู้สึกว่าอุจจาระเล็ด
  • ปวดหลังบริเวณส่วนล่าง
หากคุณมีอาการเหล่านี้แนะนำให้รับประทานยาระบายอ่อนๆ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรรีบเข้าพบแพทย์โดยทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นก่อน แต่หากมีประกันสุขภาพคุ้มครองอยู่ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยทันที เพื่อไม่ปล่อยให้โรคเรื้อรังจนกลายเป็นโรคร้ายแรงได้ในอนาคต

โรคขี้เต็มท้องมีวิธีรักษาและป้องกันยังไง

โดยปกติหากมีอาการ “ไม่รุนแรง” มากนัก คนส่วนใหญ่ก็มักเลือกวิธีการรักษาด้วยการออกไปซื้อยาระบายอ่อนๆ หรือยาแก้ท้องผูกมารับประทานเอง ซึ่งมันก็ไม่ผิดอะไร แต่รู้มั้ยว่า 50% ของผู้ที่มีอาการท้องผูกสามารถกลับมาขับถ่ายได้เป็นปกติ ด้วยการปรับ “เปลี่ยนพฤติกรรม” การใช้ชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากจะเป็นวิธีรักษาที่ง่ายที่สุด ยังเป็นการป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
  • ฝึกวินัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา อย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อปรับร่างกายให้ชิน
  • ไม่อดทนหรืออั้นอุจจาระเป็นเวลานาน ควรขับถ่ายทันทีที่รู้สึกว่าจะถ่ายหนัก
  • ควรดื่มน้ำเป็นประจำ และเพียงพอในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • ชำระลำไส้ด้วยวิธีธรรมชาติ อย่างการรับประทานอาหารจำพวกกากใย (Fiber) เช่น ผัก ผลไม้
  • ลดปริมาณการทานอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ตามมาอีกได้
  • ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะช่วยเพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย ยังทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีอีกด้วย

 

ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคขี้เต็มท้องในระยะยาวได้ หากเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ “รุนแรง” ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำวินิจฉัยโรคเบื้องต้นก่อน เพราะวิธีรักษาสภาวะท้องผูกจะถูกจัดแบ่งตามระดับอาการของผู้ป่วย โดยมีตั้งแต่การสวนทวารหนัก, การรักษาด้วยการเหน็บยา และการรักษาด้วยยาทานก็ได้ แต่ในบางกรณีพบว่ามีผู้ป่วยมีอาการของโรคอุจจาระอุดตันขั้นรุนแรง แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อนำอุจจาระออกมาจากลำไส้ของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตามระดับความรุนแรง


หากอ่านมาถึงตรงนี้จะรู้ว่าการออกกำลังกายดูแลสุขภาพ และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ร่างกายมีระบบเผาผลาญที่ดี และยังช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง แต่หากเราไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยังคงอั้นอุจจาระ และรับประทานอาหารแต่พวกเนื้อสัตว์ ไม่ยอมทานผักผลไม้ ก็อาจทำให้เราเสี่ยงที่จะเป็นโรคขี้เต็มท้อง หรือภาวะอุจจาระอุดตันได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ อาจเป็นโรคเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้ ดังนั้นแนะนำให้หมั่นตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ พยายามสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆ ของร่างกายตนเอง ว่ามีอาการผิดปกติอะไรบ้าง และอย่าลืมเสริมความมั่นใจด้วยการทำประกันสุขภาพกับอาคเนย์ประกันชีวิต เพราะนอกจากจะช่วยคุ้มครองในเรื่องของชีวิตแล้ว ยังช่วยเซฟค่าใช้จ่ายเวลาต้องเข้ารักษาพยาบาลอีกด้วย หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้เลย

 

อ้างอิง: [1], [2], [3]