มีประกันสังคม - บัตรทอง จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพอีกมั้ย | SE Life
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  มีประกันสังคม หรือ บัตรทอง 30 บาท จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพอีกมั้ย?

มีประกันสังคม หรือ บัตรทอง 30 บาท จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพอีกมั้ย?

23 พ.ย. 2565

ปัจจุบันมีสวัสดิการสุขภาพที่ภาครัฐดูแลมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประกันสุขภาพเหล่านี้อยู่มาก ถึงสิทธิและความคุ้มครอง รวมไปถึงเงื่อนไขการรับสิทธิ์ต่างๆ วันนี้จึงขอมาอธิบายข้อดีข้อเสียของบัตรทั้ง 2 ประเภทว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร แล้วเรายังจำเป็นอยู่มั้ยที่ต้องเสียเงินเพื่อซื้อประกันสุขภาพเพิ่มอีก

ประกันสังคม กับ บัตรทอง (บัตร 30 บาท) ต่างกันอย่างไร?

ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มสมาชิกหรือคนทำงานที่มีรายได้ และช่วยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย มอบสวัสดิการการคลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อสร้างความเสมอภาคให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาด้านสุขภาพที่จำเป็น ซึ่งถือเป็นสิทธิตามกฎหมายขั้นพื้นฐานของประชาชน และเพื่อเป็นทางเลือกในการรับบริการรักษาพยาบาล และเพื่อสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพในอนาคต
ในความเป็นจริงแล้วทั้งสองอย่างล้วนเป็นสวัสดิการจากรัฐที่มอบเป็นหลักประกันแก่ประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ บัตรทอง หรือ บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ที่จะมอบสิทธิให้เฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย และมีรายได้น้อยไปจนถึงยากจน ผู้ขาดโอกาสทุพพลภาพ พิการ ผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ รวมไปถึงผู้ที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาใดเลยจากรัฐ ก็สามารถขอรับสิทธิความคุ้มครองดังกล่าวได้ และใช้เงินเพียง 30 บาทในการเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ถือบัตร ในขณะที่ประกันสังคมจะเป็นสวัสดิการบังคับสำหรับลูกจ้างหรือคนทำงานที่มีการหักออกจากรายได้ในแต่ละเดือน และได้การสบทบจากนายจ้างและภาครัฐ ขึ้นอยู่ตามมาตรา 33, มาตรา 39 และ มาตรา 40 เพื่อให้ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาล และออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุ หรือบำนาญ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายอย่างเช่น เบิกค่าทำฟัน เป็นต้น

Tips: ย้ายประกันสังคม หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา

สามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม หรือ ย้ายประกันสังคม ได้ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี (วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี) ผ่านทางสำนักงานประกันสังคม

มีประกันสังคม มีประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ยังจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพอีกได้มั้ย?

เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอาจเคยสงสัยแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง เพราะก่อนหน้าเราเคยทำบัตรทอง 30 บาทเอาไว้ และพอทำงานเราก็โดนบังคับให้ทำประกันสังคม เราก็เลยเข้าใจว่าเรามีประกันสุขภาพทั้งสองตัว ก็น่าจะเพียงพออยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมอีก แต่ในความเป็นจริงเมื่อเรามีประกันสังคมอยู่แล้ว และเราเคยมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองที่ได้รับมาก่อนหน้า สิทธิบัตรทองของเราก็จะถูกตัดออกโดยอัตโนมัติทันที เหลือเพียงแค่ประกันสังคมอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเราควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ และความคุ้มครองต่าง ๆ ของประกันสุขภาพที่มีอยู่ให้ดีก่อน และค่อยพิจารณาว่าเพียงพอต่อความต้องการของเราในอนาคตหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมต่อไป

ตารางเปรียบเทียบเงื่อนไขความคุ้มครองเบื้องต้น

ประกันสังคม vs บัตรทอง 30 บาท (ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) vs ประกันสุขภาพทั่วไป

สิทธิรักษาพยาบาล

สถานพยาบาล

ประกันสังคม

ประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(บัตรทอง)

ประกันสุขภาพ

เจ็บป่วยปกติ

รัฐ

สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล ทั้ง IPD และ OPD ยกเว้น 13 โรคตามประกาศสํานักงานประกันสังคม

ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ 30 บาท ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสปสช. และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในกรณีชราภาพและพิการ

ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ ไม่ต้องสำรองจ่ายหากรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญากับบริษัทประกัน และสามารถซื้อประกันโรคร้ายแรงเพิ่มเติมได้ อีกทั้งยังมีเงินชดเชยรายได้ (รายวัน) ในกรณีต้องหยุดงาน หรือขาดรายได้ เนื่องจากเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

 

 

เอกชน

ฉุกเฉิน / อุบัติเหตุ

รัฐ

สำรองจ่ายและเบิกค่ารักษาตามที่จ่ายจริง ทั้ง IPD และ OPD
แต่ IPD จะต้องอยู่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

คุ้มครองเฉพาะสถานพยาบาลที่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด*

รพ.เข้าร่วมโครงการ
ใช้สิทธิ 30 บาท และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในกรณีชราภาพและพิการ
 

รพ.ไม่เข้าร่วมโครงการ
ต้องแจ้งใช้สิทธิและให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ

เอกชน

IPD - จ่ายตามจริงไม่เกินวันละ 2,000 บาท กรณีรักษาในห้อง ICU ไม่เกินวันละ 4,500 บาท
OPD - จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาท

ฉุกเฉินวิกฤต

ทุกแห่ง

ไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

ข้อดี - ข้อเสีย ของประกันสุขภาพแต่ละแบบ

ประกันสังคม

ข้อดี - ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาหากเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ได้รับสิทธิเพิ่มเติมจากบัตรทองคือ คุ้มครองกรณีเสียชีวิต เงินชราภาพ เงินออมหลังเกษียณ และเงินชดเชยรายได้
ข้อเสีย - จำเป็นต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ตามเงื่อนไขตามระยะเวลาในแต่ละกรณี ถึงจะสามารถใช้สิทธิต่าง ๆ ได้ มีผู้เข้าคิวใช้บริการจำนวนมากทำให้บางทีอาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้รับการรักษา และหากไม่ใช่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้จะมีเงื่อนไขชัดเจน และอาจต้องสำรองจ่ายไปก่อน

ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง หรือ บัตร 30 บาท)

ข้อดี - ลงทะเบียนเรียบร้อยใช้สิทธิได้ทันที ไม่ต้องมีกำหนดระยะเวลาหรือวันหมดอายุ ไม่จำเป็นต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน มีการรักษาที่ครอบคลุม หากเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐที่ลงทะเบียนไว้จะเสียค่ารักษา 30 บาทหรือไม่เสียเลยก็ได้
ข้อเสีย - รอคิวนาน การบริการไม่ค่อยดี เพราะมีบุคลากรจำกัด ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ต้องรักษาสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้กับ สปสช. ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่สามารถใช้บริการได้ แต่ต้องเป็นรพ.พยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุเท่านั้น

ประกันสุขภาพที่ทำกับบริษัทประกัน

ข้อดี - สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ตามวงเงินความคุ้มครอง และไม่ต้องสำรองจ่ายในกรณีเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลคู่สัญญา สามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามใจ ไม่ว่าจะประกันโรคร้ายแรง ประกันเหมาจ่าย หรือชดเชยรายได้ก็มีให้เลือกตามความต้องการ
ข้อเสีย - จะต้องเสียค่าเบี้ยประกันปีต่อปี เบี้ยประกันภัยจะปรับตามแผนความคุ้มครองและตัวผู้เอาประกัน หากไม่ได้เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลคู่สัญญาหรือโรงพยาบาลในเครืออาจต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วเบิกกับบริษัทประกันในภายหลัง
ดังนั้นจะเห็นว่าถึงแม้เราจะมีประกันสังคม หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ก็จะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลต่างๆ คล้ายคลึงกัน แต่ด้วยสิทธิการรักษาของประกันสังคม และประกันสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขจำกัด และประกันสุขภาพจากบริษัทประกันให้สิทธิความคุ้มครองที่มากกว่า แต่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน ทำให้สามารถรับการรักษาได้ทันที และหากมีการทำประกันที่มีชดเชยรายได้ ก็จะได้รับเงินชดเชยหากต้องขาดงาน หรือสูญเสียรายได้ ดังนั้นเราต้องถามตัวเองก่อนว่าต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมเหล่านี้หรือไม่
หากท่านไม่แน่ใจและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และอย่าลืมว่าก่อนจะตัดสินใจเลือกทำประกันทุกครั้ง ควรเลือกจากความต้องการของตัวเองเป็นหลักก่อน ไม่ควรเลือกตามคำแนะนำของผู้อื่น เพราะจะทำให้ผิดวัตถุประสงค์ในการซื้อประกัน และควรศึกษารายละเอียดต่างๆ ของแบบประกันที่ท่านสนใจให้ดีก่อน เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากประกันเหล่านั้น
อ้างอิง: [1], [2], [3]