ทําประกันชีวิตแบบไหนดี แบบไหนคุ้ม | SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  ทําประกันชีวิตแบบไหนดี แต่ละแบบเหมาะกับใครบ้าง

ทําประกันชีวิตแบบไหนดี แต่ละแบบเหมาะกับใครบ้าง

30 ก.ย. 2565

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันคนให้ความสนใจกับการทำประกันชีวิตกันมากขึ้น แต่แบบของประกันชีวิตก็มีหลากหลายแบบให้เลือก อาจทำให้การเลือกซื้อประกันชีวิตเป็นเรื่องที่น่าสับสนและยุ่งยากสำหรับคนที่อยากทําประกันชีวิตให้ตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกทําประกันชีวิตแบบไหนดีที่สุด และตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างครอบคลุม คุ้มค่ากับค่าเบี้ยประกันที่จะต้องจ่าย SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต จะมาแนะนำประกันชีวิตแต่ละแบบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง

ประกันชีวิตมีแบบไหนบ้าง เลือกทําประกันชีวิตแบบไหนดีที่สุด?

อ้างอิงตามหลักการแบ่งประเภทของประกันชีวิตที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดขึ้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ แบบประกันชีวิตพื้นฐาน และแบบประกันชีวิตพิเศษ ดังนี้

แบบประกันชีวิตพื้นฐาน

1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

ให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจเริ่มอย่างน้อยตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี 12 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองภัยในเรื่องของการเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว หากครบกำหนดสัญญา หรือพ้นระยะความคุ้มครองแล้วผู้เอาประกันภัยยังคงมีชีวิตอยู่ กรมธรรม์สัญญาที่ได้ทำเอาไว้กับบริษัทประกันชีวิตก็จะถือเป็นอันสิ้นสุด และผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับเงินชดเชย หรือผลประโยชน์ที่เหมือนกับแบบประกันสะสมทรัพย์

ข้อดี คือการชำระเบี้ยประกันถูกมาก และให้ความคุ้มครองชีวิตสูง จึงขอแนะนำประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาสำหรับการทำประกันให้หัวหน้าครอบครัว หรือสำหรับคนที่ต้องรับภาระ และเป็นกำลังหลักของบ้าน เพราะแบบประกันชีวิตนี้ให้ความสำคัญกับคนข้างหลัง

เหมาะสำหรับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตในระยะสั้น หรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • ผู้ที่มีกำลัง หรือความสามารถในการชำระเบี้ยต่ำ แต่ต้องการความคุ้มครองชีวิตสูง
  • ผู้ที่ต้องการบริหารความเสี่ยง เพียงช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เช่น ช่วงที่มีภาระหนี้สิน
     

2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)

ให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลายาวนาน หากเสียชีวิตในระหว่างสัญญาบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ แต่ถ้าหากผู้เอาประกันภัยยังคงมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา 85 ปี 89 ปี 90 ปี 95 ปี หรือ 99 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกัน บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย

ข้อดี คือให้ความคุ้มครองนานครอบคลุมเกือบทั้งชีวิต จึงขอแนะนำประกันชีวิตแบบตลอดชีพสำหรับเป็นมรดกให้กับลูกหลานหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต แต่มีข้อเสียหลักๆ คือแบบตลอดชีพส่วนใหญ่จะไม่มีเงินคืนรายปีให้ระหว่างสัญญา ดังนั้นจึงนิยมซื้อแบบตลอดชีพเป็นตัวหลักและแนบสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ทำให้ได้ความคุ้มครองครบทั้งชีวิตและสุขภาพ

เหมาะสำหรับใคร?

  • ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน เพื่อเป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง
  • ผู้ที่ต้องการมีมรดกให้กับลูกหลาน
  • ผู้ที่ต้องการแนบสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพที่มีระยะเวลาคุ้มครองยาวนานตลอดชีพ
     

3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment / Saving Insurance)

ให้ความสำคัญในเรื่องของการออมเงิน โดยให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองชีวิต และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

ข้อดี คือได้รับเงินคืนรายปีตามจำนวนและเงื่อนไขที่ระบุไว้ และเมื่อครบกำหนดสัญญาก็จะได้รับเงินก้อนคืน แต่มีข้อเสียคือเบี้ยประกันภัยสูงกว่าแบบประกันอื่น ๆ จึงขอแนะนำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์สำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินตามเป้าหมายในอนาคตอันสั้น เช่น เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อซื้อรถคันใหม่ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนและบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ยังสามารถนำเบี้ยประกันภัยไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด)

เหมาะสำหรับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการลงทุนแต่ไม่อยากรับความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นไป (ความเสี่ยงได้น้อย)
  • ผู้ที่ต้องการเก็บออมเงินไว้ใช้สำหรับเป้าหมายในอนาคต
  • ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตควบคู่ไปกับการออมเงิน
     

4. ประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ / แบบบำนาญ (Annuity Insurance)

เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ แบบประกันนี้ให้ระยะความคุ้มครองชีวิตเหมือนกับแบบประกันตลอดชีพ (Whole Life Insurance) ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่งจนกว่าจะถึงช่วงอายุหนึ่ง เช่น จ่ายเบี้ยฯจนถึงอายุ 55 ปี หรือจ่ายตามกำหนด เช่น 1 ปี 5 ปี เป็นต้น และเมื่อถึงอายุกำหนด เช่น อายุ 55 ปี , 60 ปี หรือ 65 ปี บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นประจำทุกปีจนกว่าจะครบตามเงื่อนไขของสัญญา หรือผู้เอาประกันภัยจะเสียชีวิตลงก่อน จึงขอแนะนำประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนวัยเกษียณ เป็นการออมเพียงประเภทเดียวที่สามารถการันตีเงินคืนหลังเกษียณ แถมยังได้สิทธิทางภาษีด้วยการหักลดหย่อนไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี


เหมาะสำหรับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการเตรียมวางแผนเกษียณ และมีเงินเป็นมรดกให้กับลูกหลาน
  • ผู้ที่อยากมีรายรับที่แน่นอนหลังเกษียณ เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป
     

แบบประกันชีวิตพิเศษ

1. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Investment linked life insurance)

เป็นการซื้อประกันชีวิตที่นอกจากจะให้ความคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังให้มีโอกาสในการลงทุนในกองทุนรวม เพื่อโอกาสในผลตอบแทนที่สูงกว่าแบบประกันชีวิตทั่วไป และยังได้รับความคุ้มครองจากประกันชีวิตปกติ โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก ๆ ดังนี้

ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ (Unit Linked)

เป็นการซื้อประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิตพร้อมการลงทุนในกองทุนรวม โดยผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกปรับรูปแบบการลงทุนให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะเน้นไปในการลงทุน หรือแบบเน้นให้ความคุ้มครอง หรือจะแบ่งให้เท่า ๆ กันก็ได้ อีกทั้งสามารถเลือกกองทุน และปรับสัดส่วนการลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่แบบประกันกำหนด โดยแบบประกันนี้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอยู่กับผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งอาจจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ได้

ข้อดี คือมีความยืดหยุ่นกว่าแบบประกันชีวิตทั่วไป กำหนดระยะเวลาจ่ายเบี้ย ลดเบี้ย หรือหยุดพักชำระเบี้ยได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของแบบประกัน ข้อเสียคือไม่สามารถนำเงินในส่วนของเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ แต่จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะในส่วนของเบี้ยที่เกี่ยวกับประกันชีวิตเท่านั้น และไม่เกิน 100,000 บาท (ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด)
 

ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (Universal Life)

เป็นการซื้อประกันชีวิตที่ได้ทั้งความคุ้มครอง และการลงทุนในกองทุนรวมเช่นเดียวกันกับแบบยูนิตลิงค์ แต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถที่จะเลือกกองทุนรวมเองได้ บริษัทประกันจะเป็นผู้คัดสรรกองทุนรวมที่เหมาะสมให้ โดยบริษัทประกันจะการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำจากการลงทุนไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนด หรือได้รับรองไว้ในสัญญา และสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท (ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด)

เหมาะสำหรับใคร?

  • ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการลงทุน สามารถยอมรับความเสี่ยงได้
  • ผู้ที่ต้องการออมเงิน และอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบอื่นๆ
     

2. ประกันชีวิตแบบเฉพาะผู้สูงอายุ

ถูกออกแบบมาให้สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ (อายุ 50 - 70 ปี) ที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง หรือเริ่มมีโรคประจำตัว แต่ยังต้องการได้รับความคุ้มครองจากประกันชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถทำประกันในรูปแบบปกติได้ เนื่องจาก เงื่อนไขการรับประกันภัยจำกัดอายุสำหรับการรับประกันภัย

ข้อดี คือไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนซื้อประกัน และได้รับความคุ้มครองชีวิตตลอดช่วงอายุตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ แต่ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคในช่วง 2 ปีแรกที่ได้ทำประกันเอาไว้ ไม่ว่าโรคนั้นจะเคยเป็นมาก่อน หรือเพิ่งเป็นหลังจากที่ได้ทำประกันก็ตาม บริษัทจะคืนเบี้ยที่ชำระมาแล้วทั้งหมดบวกด้วยผลตอบแทนเพิ่มเติมเล็กน้อย แล้วแต่เงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่ถ้าเสียชีวิตตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป บริษัทประกันจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยเต็มจำนวนในทุกกรณี ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือจากโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม

เหมาะกับใคร?

  • ผู้สูงอายุที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และมีมรดกไว้ให้ลูกหลาน
  • ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว แต่อยากทำประกันชีวิต
  • ลูกหลานที่อยากซื้อแบบประกันเพื่อเป็นของขวัญให้แก่พ่อและแม่

เนื่องจากแบบของประกันชีวิตมีหลากหลายแบบข้างต้น หลายคนก็อาจจะไม่แน่ใจว่าจะซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี SE Life ได้แนะนำการเลือกซื้อประกันชีวิตไว้อย่างละเอียด เพื่อให้คุณได้ลองพิจารณาและเลือกทำประกันชีวิตที่เหมาะสำหรับคุณและครอบครัวจริงๆ เพราะการทำประกันชีวิตถือเป็นการบริหารความเสี่ยงในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง และเมื่อทำความเข้าใจแบบประกันชีวิตแล้ว ก็จะทำให้คุณจ่ายค่าเบี้ยประกันได้อย่างสบายใจและคุ้มค่ากับความคุ้มครองที่จะได้รับอย่างแน่นอน ซึ่งอาคเนย์ประกันชีวิตมีแบบประกันให้เลือกซื้อทั้งแบบออนไลน์ที่สามารถ ซื้อได้ด้วยตัวเอง ง่ายๆ หรือขอรับคำ ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

 

อ้างอิง: [1], [2]