9 วิธีแก้ปัญหา จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ต้องทำอย่างไร - อาคเนย์ประกันชีวิต
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  9 วิธีแก้ปัญหาจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ไม่รู้ต้องทำอย่างไรดี

9 วิธีแก้ปัญหาจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ไม่รู้ต้องทำอย่างไรดี

15 ก.ย. 2565

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเผชิญปัญหาที่คิดว่าตัวเองมีกำลังพอสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ตามกำหนดในระยะเวลา      นาน ๆ  แต่พอถึงเวลาเรากลับรู้สึกว่าตัวเองจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวแล้ว เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มากขึ้น หรือมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ทำให้เรามีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอในการชำระเบี้ยประกัน วันนี้เรามีคำแนะนำวิธีแก้ปัญหาจ่ายเบี้ยไม่ไหว ต้องทำอย่างไรมาลองดูกันนะ โดยจะขอแบ่งเป็น 3 ระดับเพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้
 
ระดับที่ 1 จ่ายชำระเบี้ยประกันไม่ไหวในระยะสั้น
หากคุณกำลังคิดว่าตัวเองยังมีกำลังพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันอยู่ แต่ต้องการเวลา หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บเงินไม่ว่าด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม คุณสามารถหาทางออกได้ง่าย 2 วิธี ดังนี้
1.ผ่อนผันการชำระเบี้ยประกัน โดยปกติหากครบกำหนดชำระเบี้ยแล้ว สามารถขอผ่อนผันการชำระเบี้ยได้ไม่เกิน 31 วันนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระเบี้ย แต่ข้อควรระวังคือหากเสียชีวิตในระหว่างขอผ่อนชำระเบี้ย บริษัทจะหักเบี้ยประกันที่ยังไม่จ่ายออกจากทุนประกันชีวิต และต้องระวังอย่าปล่อยให้เลย หรือพ้นระยะเวลาผ่อนผันเป็นอันขาด
2.เปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกัน สามารถแจ้งความประสงค์เปลี่ยนรูปแบบการชำระเบี้ยจากรายปี มาเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือ 6 เดือน ช่วยลดภาระ และความเสี่ยงในการเก็บเงินก้อนได้ แต่ข้อเสียคือเราจะเสียค่าเบี้ย
 
ระดับที่ 2 จ่ายชำระเบี้ยประกันไม่ไหวในระยะยาว
หากทำตามระดับที่หนึ่งไปแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าไม่ไหวอีกแสดงว่านั้นเป็นสัญญาณของการเตือนว่าคุณไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันได้ตามเดิมแล้ว ดังนั้นการลดภาระค่าใช้จ่ายลงก็ช่วยให้เรามีกำลังชำระเบี้ยฯเพื่อถือกรมธรรม์ต่อไปจนครบสัญญาได้ โดยมีข้อแนะนำ 3 วิธี ดังนี้
1.ลดจำนวนเงินเอาประกันภัยลง ช่วยให้เราจ่ายเบี้ยได้น้อยลง โดยที่จำนวนเงินเอาประกันที่ขอลดจะต้องไม่ต่ำกว่าทุนประกันขั้นต่ำที่บริษัทกำหนด และต้องไม่เป็นหนี้กับบริษัทในขณะนั้น ถึงจะสามารถทำได้
2.เปลี่ยนแบบประกันที่ถูกลง หากมีระบุไว้ในกรมธรรม์ หรือได้รับความเห็นชอบจากบริษัท เราสามารถขอเปลี่ยนแบบกรมธรรม์เป็นแบบอื่นที่ถูกลงได้ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในเงื่อนไข  โดยอาจมีส่วนต่างของเบี้ยประกัน หรือเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แล้วแต่กรณี แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าการพิจารณาประกันแบบใหม่นั้น ต้องตรงความต้องการของตัวเองเป็นสำคัญ
3.ยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย จะช่วยให้เบี้ยประกันภัยที่เราต้องจ่ายในแต่ละงวดลดน้อยลง เนื่องจากจะเหลือจ่ายแค่เบี้ยประกันของสัญญาหลักเท่านั้น โดยต้องสังเกตจากเอกสารกรมธรรม์ว่ามีสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหรือไม่หากมีก็สามารถขอยกเลิกได้เลย ส่วนมากจะเป็นประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ
 
ระดับที่ 3 จ่ายชำระเบี้ยประกันไม่ได้ถาวร
หากพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้อีกแล้ว ไม่ว่าคุณจะจ่ายมามากน้อยแค่ไหน เราขอแนะนำทางเลือกสำหรับความจำเป็นด้วย 4 วิธี ดังนี้
1.เปลี่ยนเป็นกรรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หากต้องการรับความคุ้มครองตามกรมธรรม์จนครบกำหนดสัญญา เราสามารถขอลดจำนวนเงินเอาประกันลงได้ โดยจำนวนเงินเอาประกันใหม่ดูได้จากตารางมูลค่าใช้เงินสำเร็จที่แนบอยู่ในกรมธรรม์ ซึ่งสิทธิการขอเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ต้องจ่ายเบี้ยฯ ต่อเนื่องมากกว่า 2 ปีขึ้นไป หรือมีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ และกรมธรรม์ยังมีผลบังคับ เท่านี้เราก็จะไม่ต้องชำระเบี้ยประกันต่อไปอีก ข้อเสียคือสัญญาแนบท้ายก็จะถูกยกเลิกไปด้วย
2.เปลี่ยนเป็นกรรมธรรม์แบบขยายเวลา วิธีนี้จะสลับกับการเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ คือ จำนวนเงินเอาประกันภัยจะเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะน้อยลง หรือขยายเวลาต่อไปจากวันที่ใช้สิทธิ ตามจำนวนปี และวันที่ระบุ โดยดูได้จากตารางมูลค่าขยายเวลาในกรมธรรม์ของแต่ละคน แต่ข้อดีก็คือเราไม่ต้องจ่ายชำระเบี้ยประกันอีก ซึ่งเราต้องเปรียบเทียบให้ดีว่าเราควรเลือกแบบไหนระหว่างแบบใช้เงินสำเร็จ หรือแบบขยายเวลา
3.เวนคืนกรมธรรม์ (ยกเลิกกรมธรรม์) ท้ายที่สุดหากต้องตัดใจยอมขอยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อหวังจะได้เงินสดคืนจากบริษัทประกันชีวิตก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้แย่เท่าไหร่ แต่หากจำนวนมูลค่าเวนคืนยังน้อยอยู่ก็ไม่คุ้ม สู้ถือกรมธรรม์ไว้จนครบสัญญา หรือไปกู้กรมธรรม์ย่อมดีกว่า เพราะการเวนคืนกรมธรรม์จะเท่ากับว่าเราเสียความคุ้มครองชีวิตนั่นไปด้วยเนื่องจากเราขอยกเลิกสัญญา แต่ข้อดีคือหากมูลค่าเวนคืนของเราเหลืออยู่มากพอ ก็จะกลายเป็นเงินก้อนคืนให้เรานำไปใช้จ่ายที่จำเป็นได้อีกด้วย
4.กู้กรมธรรม์ประกันชีวิต หรือนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ โดยปกติการขอกู้กรมธรรม์จะเป็นการยืมเงินจากมูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์นั้นๆ ซึ่งใช้ในยามฉุกเฉินต้องรีบใช้เงินเร่งด่วน โดยบริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในกรมธรรม์ ข้อดีคือเรายังคงได้รับความคุ้มครองเช่นเดิม แต่การจะกู้กรมธรรม์ได้เราต้องมีมูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์ หรือชำระเบี้ยประกันต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปี หากเราปล่อยไม่ชำระเบี้ยประกันต่อ บริษัทประกันจะกู้เงินจากกรมธรรม์อัตโนมัติเพื่อนำมาชำระค่าเบี้ยประกันแทนผู้ทำประกันที่ไม่สามารถจ่ายเบี้ยได้ตามเวลาที่กำหนด จนกว่ามูลค่าเวนคืนจะเหลือไม่พอสำหรับการกู้เงินจากกรมธรรม์
 
เมื่อเราเลือกวิธีแก้ปัญหาจ่ายเบี้ยไม่ไหวที่เหมาะกับเราได้แล้ว ก็ขอให้อย่าลืมว่าการทำประกันอะไรก็ตาม ควรพิจารณาความเหมาะสมให้ดี ควรเลือกเท่าที่เราสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อนหรือกระทบกับอะไร และที่สำคัญควรเลือกจากความต้องการของตัวเอง ไม่เลือกจ่ายมากไปจนก่อให้เกิดเป็นภาระ หรือปัญหาตามมา หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านประกันและการเงิน
 

อ้างอิง: [1], [2]