Work From Home ยังไง? ให้ห่างออฟฟิศซินโดรม - อาคเนย์ประกันชีวิต
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  5 ข้อควรระวังสำหรับทำงานที่บ้าน Work from home Syndrome

5 ข้อควรระวังสำหรับทำงานที่บ้าน Work from home Syndrome

30 ก.ย. 2565

ในปัจจุบันเทรนหางาน Work from Home หรือทำงานที่บ้าน ยังคงเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 (covid) จะเริ่มคลีคลาย แต่คนทำงานส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกที่จะกักตัวอยู่บ้านทำงานมากกว่าการออกมาทำงานที่ออฟฟิต ถึงขนาดบางคนยอมลาออกเพื่อสมัครเข้าทำงานที่ใหม่ที่อนุญาติให้ทำงานที่บ้านได้ แต่ใครจะรู้ว่าในประโยชน์ที่มากมายก็มีโทษแอบแฝง หากไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ดีและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน คุณอาจจะต้องมานั่งเสียใจกับโรคออฟฟิศซินโดรม หรือ Work from Home Syndrome

ทำงานในห้องที่มืด และจ้องคอมมากเกินไป

หลายคนที่ชอบทำงานในที่มืด หรืออาศัยอยู่ในห้องเช่า คอนโดมิเนียม และอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งมีพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้มีแสงสว่างที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานแบบ Work from Home ถึงแม้จะมีหลอดไฟช่วยให้ความสว่างภายในห้อง แต่ก็ไม่อาจสู้แสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้บ่อยครั้งเวลาจ้องคอมนาน ๆ จะเริ่มมีอาการปวดล้าที่ตา และการมองเห็นก็พร่ามัว หรือเบลอชั่วขณะ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่าสายตาของเรากำลังทำงานหนัก หากปล่อยไว้ไม่แก้ไขอาจส่งผลเสียต่อสายตาในระยะยาวอย่างแน่นอน สิ่งที่จำเป็นคือต้องเพิ่มแสงสว่างภายในห้องที่เราทำงาน หรือซื้อโคมไฟเล็กสีส้มมาตั้งไว้ใกล้ อาจลดแสงสว่างหน้าจอ หรือปรับโหมดการอ่านก็จะช่วยลดแสงสีฟ้าลงได้ บ้างทีการหาของสีเขียวมาวางรอบ ๆ ก็ช่วยให้สายตาได้ผ่อนคลาย แต่หากจำเป็นที่จะต้องจ้องคอมเป็นเวลานานๆ ก็ควรตัดแว่นที่มีคุณสมบัติตัดแสงสีฟ้าได้เป็นดีที่สุด

เผลอทำงานจนลืมเวลา กินข้าว กินปลา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการ Work from Home ช่วยทำให้เรามีเวลาใช้ชีวิต และมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาในเดินทาง แถมช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่การทำงานที่บ้านไม่เหมือนกับการทำงานที่ออฟฟิตเพราะไม่มีสัญญาณเตือนว่าได้เวลาพักแล้ว บ่อยครั้งที่เราจะเผลอทำงานจนเพลิน พอรู้ตัวอีกทีก็เลยเวลากินข้าวเรียบร้อยแล้ว พฤติกรรมแบบนี้นอกจากจะทำให้เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม ยังอาจได้โรคกระเพาะและกรดไหลย้อนมาเป็นของแถมอีกด้วย ดังนั้นควรตั้งเวลาเตือนตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่น ๆ สลับกับการทำงาน และควรกินให้เป็นเวลาเพื่อให้สุขภาพที่ดีอยู่กับเราต่อไปนานๆ

อิสระในการทำงาน มีความเป็นส่วนตัวสูง

การทำงาน Work from Home มีความแตกต่างจากการทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากมีความเป็นอิสระ และความเป็นส่วนตัวสูง สามารถทำงานที่ไหนของบ้านก็ได้ ไม่ว่าจะบนเตียง โซฟา หรือแม้แต่บนโต๊ะอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย หรือเหน็บชาในเวลาที่เรานั่งไปนาน ๆ ซึ่งเกิดจากท่านั่งที่ไม่ถูกวิธี เช่น การนั่งทำงานด้วยท่าขัดตะหมาด หรือขัดสมาธิ การก้มคอหรือโค้งศีรษะจ้องจอคอม เป็นต้น หากยังไม่ปรับเปลี่ยนท่านั่งให้ทำงานให้ถูกวิธีอาจนำไปสู่สาเหตุหลักของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ และเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจึงควรทำงานในท่านั่งหลังตรง ศีรษะตั้งตรง ไหล่ไม่ยกสูง นั่งให้เต็มก้น เท้าวางราบกับพื้น เข่าตั้งฉาก ข้อมือระนาบกับแป้นพิมพ์ และหน้าจอคอมต้องอยู่เหนือระดับสายตา เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอก้มบ่อย ๆ และถ้าหากใช้โน้ตบุ๊คก็ควรหาฐานยก หรือที่รองเสริมมาทดแทนก็ได้

รับประทานอาหารบนโต๊ะทำงาน

แน่นอนว่าสมัยนี้มีบริการรับส่งอาหารที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วง Work from Home ที่สามารถทานอาหารพร้อมกับทำงานไปด้วยได้ ซึ่งการรับประทานอาหารบนโต๊ะทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะร่างกายจะไม่ได้ขยับไปไหนเลย และอยู่ในท่าเดิมตลอดเป็นระยะเวลานาน เมื่อสะสมไป เรื่อย ๆ อาจทำให้เราเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ จึงควรเปลี่ยนไปนั่งทานบริเวณอื่นบ้าง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นตรึงจนเกิน และควรทำเป็นระยะ ๆ เป็นประจำ อาจทำด้วยท่าง่าย ๆ อย่างการยืนบิดตัว หรือเดินไปมาก็ถือเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้ว

นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

การนอนน้อย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลเสียต่อสภาวะทางอารมณ์ และประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หน้ามืด ในระหว่างวัน นอกจากนี้ยังทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือทำให้เกิดความเครียดสะสม ดังนั้นควรนอนหลับ และพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้มีสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่ดี และไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

 

แม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่หากละเลยปล่อยไว้อาจทำให้เกิดอาการเรื้อรั้งส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่ดี และอาจไม่มีความสุขในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้ เราจึงควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน Work from Home ให้เหมาะสม และถูกวิธี หากพบว่ามีอาการเบื้องต้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ อย่าปล่อยให้มีอาการรุนแรงก่อน หรือทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมความการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคออฟฟิศซินโดรมก็เป็นการป้องกันอีกรูปแบบหนึ่ง