วิธีลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง สรุปให้เข้าใจง่าย ก่อนเสียภาษี! | SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  สรุปทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลดหย่อนภาษี 2567

สรุปทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลดหย่อนภาษี 2567

20 ก.ย. 2567

เมื่อมีรายได้จากการทำงานไม่ว่าจะช่องทางไหน การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นหน้าที่สำคัญของทุกคน แต่สำหรับคนที่เตรียมจะยื่นเสียภาษี แต่ยังไม่รู้ว่ามีสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2567 มีอะไรบ้าง มีวิธีลดหย่อนภาษีอย่างไร และการทำประกันประเภทไหนบ้างที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ ในบทความนี้ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต ได้สรุปทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลดหย่อนภาษี 2567 ให้ทุกคนเอง

 

ลดหย่อนภาษี คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับคนทำงาน

การลดหย่อนภาษี คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลมอบให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และส่งเสริมการออม การลงทุน รวมไปถึงการทำประกันประเภทต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงของชีวิต การวางแผนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ในระยะยาว

 

ความสำคัญของสิทธิลดหย่อนภาษีกับคนทำงาน

  • ช่วยวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ : การรู้จักใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ช่วยให้คนทำงานสามารถวางแผนการเงินได้รัดกุมขึ้น โดยเฉพาะการเปรียบเทียบประกันลดหย่อนภาษี ที่วัยทำงานต้องให้ความสำคัญ
  • ประหยัดภาษีได้มากขึ้นเมื่อวางแผนล่วงหน้า : การเตรียมตัววางแผนใช้สิทธิลดหย่อนตั้งแต่ต้นปี จะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีได้มากกว่าการรีบจัดการในช่วงปลายปี
  • ได้รับเงินภาษีคืน : การใช้สิทธิลดหย่อนอย่างครบถ้วนอาจทำให้ได้รับเงินภาษีคืน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยไม่ควรลืมเช็คเงินคืนภาษีเด็ดขาด
  • ส่งเสริมการออมและการลงทุน : สิทธิลดหย่อนบางประเภท ช่วยส่งเสริมให้เกิดการออม และการลงทุนระยะยาว เช่น การลงทุนในกองทุน RMF หรือ SSF
 

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง

 

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง

 

สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว : 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส : 60,000 บาท (กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้)
  • ค่าลดหย่อนบุตร : บุตรคนที่ 1 - 2 (คนละ 30,000 บาท) / บุตรคนที่ 3 เป็นต้นไป (คนละ 60,000 บาท) และต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
  • ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์
  • ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา : คนละ 30,000 บาท (สูงสุด 4 คน) ลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 120,000 บาท โดยบิดา และมารดาจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษี
  • ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ : คนละ 60,000 บาท โดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ในปีภาษี
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา และมารดาจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษี
 

สิทธิลดหย่อนภาษีจากการออมและลงทุน

  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) : ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF : ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF : ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG : ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 300,000 บาท
 

สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกัน

  • เบี้ยประกันชีวิตและแบบสะสมทรัพย์ : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นกรมธรรม์ที่คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อน 10 ปีขึ้นไป จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพ : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตกับแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ : ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และจ่ายตามจริงไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

สิทธิลดหย่อนจากมาตรการรัฐ

  • โครงการ Easy e-Receipt : ค่าซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 2567 สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
  • ค่าท่องเที่ยวเมืองรอง : ค่าที่พัก รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ในจังหวัดรอง 55 จังหวัด สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567
  • ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เช่น บ้านเดี่ยว อาคาร ห้องชุด และคอนโด
 

สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป : ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา และพัฒนาสังคม : ลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง : จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
 

เงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับการยกเว้นภาษี

ในระบบภาษีของประเทศไทย นอกจากการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีเงินได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินให้แก่ประชาชน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนี้จะช่วยให้การวางแผนภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับการยกเว้นภาษี
1. เงินได้จากการรับมรดก
2. เงินช่วยเหลือจากครอบครัว
- เงินที่ได้รับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีภาษี
- เงินที่ได้รับจากบุคคลอื่นตามประเพณี ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปีภาษี
3. ดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภท
- ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์
- ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารในประเทศ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
4. สวัสดิการจากนายจ้าง
- ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเดินทางสำหรับการปฏิบัติงาน
- ค่ารักษาพยาบาลสำหรับลูกจ้างและครอบครัว
- ค่าเช่าบ้านหรือมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างจัดให้โดยไม่เสียค่าเช่า
- มูลค่าของเครื่องแบบพนักงาน ไม่เกิน 2 ชุดต่อปี
5. เงินสะสมและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
6. เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ยกเว้นหุ้นกู้และพันธบัตร)
7. รางวัลจากการเสี่ยงโชคที่ออกโดยรัฐ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออมสิน
8. เงินประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม เช่น กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ หรือว่างงาน

 

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การคำนวณภาษีแบบขั้นบันได สำหรับผู้มีรายได้ประจำที่แน่นอน และอีกหนึ่งวิธี คือ การคำนวณภาษีแบบเหมาจ่าย สำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน โดยจะมีรายละเอียดต่างกัน ดังนี้

 

การคำนวณภาษีแบบขั้นบันได

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได มีดังนี้
1. คำนวณเงินได้สุทธิ : เงินได้สุทธิ = รายได้รวมต่อปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
2. นำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได
ตัวอย่างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อ้างอิงปี 2566)

  • 0 - 150,000 บาท: ยกเว้นภาษี
  • 150,001 - 300,000 บาท : เสียภาษี 5%
  • 300,001 - 500,000 บาท : เสียภาษี 10%
  • 500,001 - 750,000 บาท : เสียภาษี 15%
  • 750,001 - 1,000,000 บาท : เสียภาษี 20%
  • 1,000,001 - 2,000,000 บาท : เสียภาษี 25%
  • 2,000,001 - 5,000,000 บาท : เสียภาษี 30%
  • 5,000,001 บาทขึ้นไป : เสียภาษี 35%
 

การคำนวณภาษีแบบเหมาจ่าย

วิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจ่าย เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน และไม่ต้องการความยุ่งยากในการเก็บหลักฐานต่าง ๆ โดยมีวิธีคิด ดังนี้
1. (เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.005
2. นำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได

 

ระยะเวลายื่นลดหย่อนภาษีในปี 2568

 

ระยะเวลายื่นลดหย่อนภาษีในปี 2568

การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2567 (ที่จะยื่นในปี 2568) มีกำหนดเวลาดังนี้

  • ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 : ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568
  • ยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต : สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568
 

เอกสารที่ต้องใช้ยื่นขอสิทธิลดหย่อนภาษี

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมสำหรับการยื่นภาษีและขอสิทธิลดหย่อน ได้แก่

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • หลักฐานการซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
  • หลักฐานการลงทุนในกองทุน RMF, SSF, หรือ Thai ESG
  • ใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียนบุตร (กรณีมีบุตร)
  • ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล หรือค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร (กรณีมีบุตร)
  • หลักฐานการบริจาคเงิน
  • สัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
  • ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) สำหรับโครงการ Easy e-Receipt
  • ใบเสร็จค่าที่พักสำหรับการท่องเที่ยวเมืองรอง
 

สถานที่ยื่นภาษี

ผู้มีเงินได้สามารถยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีได้หลายช่องทางตามนี้

  • ยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  • ยื่นทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
  • ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax
  • ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
 

สรุป วิธีลดหย่อนภาษี 2567 ของวัยทำงาน

การลดหย่อนภาษี เป็นเรื่องสำคัญที่วัยทำงานมีรายได้ไม่ควรพลาด เพราะสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้บริหารจัดการเงินได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการออม การลงทุน รวมไปถึงการเลือกทำประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ หรือประกันสุขภาพประเภทอื่น ๆ ที่มีความสำคัญอย่างมากในกลุ่มคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว จึงไม่ควรอย่างมากที่จะมองข้ามสิ่งสำคัญเหล่านี้ ซึ่งทาง SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต ก็มีประกันหลากหลายรูปแบบให้คุณได้เลือกตามเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคน ทั้ง ประกันชีวิต , ประกันสุขภาพ, ประกันบำนาญลดหย่อนภาษี และ ประกันสะสมทรัพย์ลดหย่อนภาษี สามารถขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ ตัวแทน หรือสนใจ ซื้อประกันออนไลน์ สามารถติดตามข่าวสาร SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต ได้ที่ Facebook SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต, LINE Official @THAIGROUP และ Call Center โทร 0 2255 5656

หมายเหตุ: เป็นการออมในรูปแบบประกันชีวิต ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

ประกันที่เกี่ยวข้อง