7 สิ่งที่ควรรู้ก่อนการซื้อประกันสุขภาพ | SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  7 สิ่งที่ควรรู้ก่อนการซื้อประกันสุขภาพ

7 สิ่งที่ควรรู้ก่อนการซื้อประกันสุขภาพ

23 พ.ย. 2565

ในปัจจุบันทั้งไลฟ์สไตล์ สภาพแวดล้อม และโรคระบาดต่างๆ อาการเจ็บป่วย หรือความเสี่ยงจะเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลายคนจึงวางแผนดูแลตัวเองด้วยการซื้อประกันสุขภาพ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพมากที่สุด SE Life อยากให้คุณได้ ซื้อประกันสุขภาพ ที่ตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ คุ้มค่า และครอบคลุมทุกค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้คุณเข้ารับการรักษาตได้อย่างสบายใจ ไร้ความกังวล ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหนักหรือเบามากแค่ไหนก็ตาม


7 สิ่งที่ควรรู้ก่อนการซื้อประกันสุขภาพ

ก่อนตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพทุกครั้ง มีสิ่งสำคัญที่ควรต้องรู้และทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความคุ้มครองและค่ารักษาพยาบาลโดยรวมของคุณได้ ดังนั้น การเลือกซื้อประกันสุขภาพให้ตอบโจทย์และคุ้มค่ามากที่สุด SE Life ขอแนะนำ 7 สิ่งที่คุณต้องรู้และทำความเข้าใจก่อนการซื้อประกันสุขภาพ ดังนี้

1. ประกันสุขภาพคืออะไร?

การซื้อประกันสุขภาพ เปรียบเสมือนการที่เราเอาเงินจำนวนหนึ่งไปวางเดิมพันกับเจ้ามือ (บริษัทประกันภัย) ว่าหากฉัน (ผู้เอาประกันภัย) เกิดล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดจากการเจ็บป่วย โรคภัย การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่เรา (ผู้เอาประกันภัย) ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ต้องสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินตกลงกันไว้ หรือที่เรียกว่า “เงินเอาประกันภัย” นั่นเอง

2. ทำไมเบี้ยประกันสุขภาพถึงจ่ายไม่เท่ากัน?

สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น อายุ อาชีพ เพศ ไลฟ์สไตล์ ประวัติสุขภาพ ประวัติการรักษา ไปจนถึงแผนวงเงินความคุ้มครอง ซึ่งทั้งหมดจะผ่านการคำนวณทางสถิติโดย นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยรู้ได้ว่าควรตั้งราคาแบบไหนถึงไม่ขาดทุน
ดังนั้น สิ่งที่ควรรู้ในการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรซื้อในตอนที่เรายังมีสุขภาพที่ดี อายุน้อย เพราะราคาเบี้ยประกันจะถูกกว่า และได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากเราตัดสินใจซื้อประกันตอนที่ป่วยแล้ว หรืออายุมากขึ้น เราอาจได้รับความคุ้มครองไม่เต็มที่ หรืออาจถึงขั้นไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้เลย นี่แหละคือสาเหตุที่ว่า ทำไมคนอายุน้อยถึงควรซื้อประกันสุขภาพ

3. ประกันสุขภาพคุ้มครองกรณีใดบ้าง?

  • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน เช่น ค่าห้องพัก ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด ซึ่งจะจ่ายตามการรักษาจริง ภายในวงเงินสูงสุดที่กำหนดในสัญญา โดยจะคุ้มครองทั้งกรณีเจ็บป่วย และบาดเจ็บ
  • คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก จากการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล โดยมีความคุ้มครอง 2 แบบ คือเป็นวงเงินต่อครั้ง กับแบบเหมาจ่ายต่อปี
  • เงินชดเชยรายได้ (รายวัน) ในกรณีต้องหยุดงาน หรือขาดรายได้ เนื่องจากต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
  • คุ้มครองโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง จะได้รับเงินก้อนตามทุนประกัน หรือรับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล

4. ประกันสุขภาพไม่คุ้มครองกรณีใดบ้าง?

  • โรคที่เป็นมาก่อน หรือ โรคที่ยังมีการรักษา เช่น หลายคนคิดว่าเราจะเป็น หรือเป็นโรคบางอย่าง จึงตัดสินใจไปทำประกัน ต่อมาต้องการเคลมค่ารักษาพยาบาล แต่กับถูกบริษัทประกันปฏิเสธ เพราะแพทย์วินิจฉัยพบว่าเราเป็นโรคนี้มาก่อน เป็นต้น
  • โรค หรือ ภาวะที่ไม่คุ้มครองในช่วงแรก เมื่อเราทำประกันเราจะยังไม่สามารถใช้สิทธิในการเคลมค่ารักษา เรียกร้องเงินชดเชยหรือเคลมประกันได้เพราะต้องรอดูสังเกตอาการ (ระยะเวลารอคอย (Waiting Period)) ประมาณ 15 วัน 30 วัน 60 วัน ไปจนถึง 120 วันสำหรับบางโรค ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันกำหนด เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคมาก่อนการทำประกัน ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขให้ดีก่อนการซื้อประกันสุขภาพทุกครั้ง
  • การเข้าพักรักษาตัว ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บหรือป่วยไข้ เช่น การตั้งครรภ์ คลอดบุตร แท้งบุตร ทำหมัน การทำศัลยกรรม การลดความอ้วน และการตรวจสายตา เนื่องจากเป็นความต้องการของเราเอง เว้นแต่บางบริษัทจะเปิดขยายความคุ้มครอง หรือขายสัญญาเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า
  • การพยายามฆ่าตัวตาย หรือ ทำร้ายร่างกายตัวเอง แน่นอนว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากตัวเราเอง ซึ่งขัดต่อการทำประกันสุขภาพ เพื่อเน้นป้องกันภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา บริษัทประกันจึงจะไม่ให้ความคุ้มครอง
  • การรักษาโรคทางจิต เช่น ภาวะวิกลจริต ภาวะเครียด โรคซึมเศร้า เนื่องจากอาการเหล่านี้ อยู่เหนือภาวะควบคุมอารมณ์ของผู้ป่วยทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการทำร้ายร่างกายตัวเองได้

5. การซื้อประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพจริงหรือไม่?
หลายคนอาจเคยได้ยินคำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” ซึ่งอาจจะไม่ต้องตรวจก็จริง แต่เมื่อจะทำประกัน ผู้ขอเอาประกันภัยต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยตามความเป็นจริงเท่านั้น ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยจะเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทประกันด้วย ดังนั้น หากเราปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องสุขภาพ อาจทำให้บริษัทประกันปฏิเสธความคุ้มครองได้เช่นกัน

6. ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้หรือไม่?
ในกรณีทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท แต่ในกรณีที่ทำประกันสุขภาพกับประกันชีวิตด้วยนั้น สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้รวมกันสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

7. อยากทำประกันสุขภาพ แต่ไม่อยากจ่ายค่าเบี้ยเป็นเงินก้อน
ปัจจุบันมีแผนประกันสุขภาพให้ได้เลือกมากมาย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเรื่องความคุ้มครอง และการจ่ายค่าเบี้ย ให้คุณเลือกแบ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นราย 1 เดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือนได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทประกัน

การซื้อประกันสุขภาพเหมาะกับใครบ้าง?

หลายคนอาจมองว่าการซื้อประกันสุขภาพเหมาะกับผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยในอนาคต หรือผู้ที่เจ็บป่วยบ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้ได้เลยตัวเองว่าจะเจ็บป่วยเมื่อไหร่ ประกันสุขภาพเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตอีกอย่างหนึ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม  

อีกทั้งประกันสุขภาพยังเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงจะเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น การวางแผนทำประกันสุขภาพตั้งแต่วัยทำงานนอกจากจะทำให้จ่ายค่าเบี้ยถูกกว่าแล้ว ยังทำให้คุณมีประกันสุขภาพ พร้อมเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างสบายใจอีกด้วย

ดังนั้น ประกันสุขภาพ คือ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินรูปแบบหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เราสูญเสียเงินก้อนใหญ่ไปกับการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเอง และจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนค่ารักษาในภายหลัง ซึ่งจะต่างกับ การทำประกันชีวิต ที่เน้นให้ประโยชน์แก่คนที่เรารัก เพื่อพวกเขาจะไม่ลำบากในยามที่เราจากโลกนี้ไป หากลูกค้าท่านใดสนใจสามารถ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และอย่าลืมว่าทุกครั้งก่อนที่ตัดสินใจซื้อประกันควรศึกษาผลิตภัณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดี ก่อนการตัดสินใจซื้อทุกครั้งนะ