7 สิ่งควรรู้ก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพหรือไม่? | SE Life
 
Detail
Discount
Help

 >  บทความ  >  7 ข้อควรรู้ก่อนทำประกันสุขภาพ จำเป็นไหม ควรมีจริงหรือ?

7 ข้อควรรู้ก่อนทำประกันสุขภาพ จำเป็นไหม ควรมีจริงหรือ?

23 พ.ย. 2565

ทุกวันนี้ก่อนเราตัดสินใจซื้ออะไร เราจะต้องพิจารณาความต้องการของตัวเอง และความจำเป็นเสียก่อน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในช่วงนี้ จึงต้องรัดเข็มขัด และวางแผนทางการเงินดี ๆ แต่หนึ่งสิ่งที่เราก็ควรสนใจไม่แพ้เรื่องการออมคือ “สุขภาพ” คุณคงไม่อยากเก็บเงินมาเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตัวเองแน่ ๆ ดังนั้นลองเช็กตัวเองดูว่าจำเป็นไหมที่จะต้องแบ่งเงินก้อนหนึ่งมาทำประกันสุขภาพ มาดูกันว่าเราควรเช็กตัวเองอย่างไรบ้าง..

1.ควรทำประกันสุขภาพตอนที่สุขภาพยังดีอยู่

สิ่งแรกที่ควรทำคือการดูประวัติการรักษาตัวเอง และอายุปัจจุบัน ถ้าอยากได้รับความคุ้มครองเต็มที่ ควรทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย หรือตอนที่เรายังมีสุขภาพดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะจะทำให้เบี้ยประกันมีราคาที่ถูก แต่ถ้าหากเราทำประกันตอนที่มีอายุมากแล้ว หรือ เริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บ เราก็จะเสียค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นนั่นเอง ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่ หรืออาจถึงขั้นไม่สามารถทำประกันได้เลย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองว่าตัวเองยังสุขภาพแข็งแรงดีอยู่

2.เช็กประวัติสุขภาพของครอบครัว

บางครั้งการดูแลสุขภาพตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจเป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ว่าจะจากพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายที่เป็นโรค หรือพาหะ ตัวเราเองก็อาจเป็นหรือได้รับโรคเหล่านั้นสืบทอดต่อมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ต่อเนื่อง และราคาแพงมาก หากเราไม่มีเงินสำรองหรือความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ จึงควรสอบถามประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว และเช็กว่ามีใครเคยเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่ก็จะช่วยให้เราพิจารณาการเลือกซื้อประกันสุขภาพได้

3.ตรวจสอบสุขภาพไลฟ์สไตล์ตัวเอง

ควรสังเกตว่าเรา ออกกำลังกายมั้ย ทานอาหารที่มีประโยชน์หรือไม่ หรือแม้แต่ลักษณะการทำงานเองก็มีผล เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่ค่อยได้ขยับร่างกายกันมากนัก ด้วยการจำกัดระยะห่าง (Social distancing) การทำงานที่บ้าน (Work from home) การสั่งอาหาร (Food Delivery) หรือความเครียดที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงแนะนำให้ทำประกันสุขภาพไว้ก่อน เพื่อที่จะได้อุ่นใจในภายหลัง

4.สำรวจกระเป๋าตังค์ วางแผนสุขภาพในระยะยาว

ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าเกิดเราเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อมีอายุมากขึ้น เรามีเงินสำรองพอสำหรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ และค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ แล้วเราสามารถนำเงินตรงไหนมาช่วยทดแทนในส่วนนี้ได้ โดยปกติเราควรมีเงินสำรองหลังเกษียณอย่างน้อยประมาณ 3-5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากไม่มีเราควรรีบซื้อประกันสุขภาพเก็บไว้ดีกว่า เพราะอย่างน้อยหากเจ็บป่วยขึ้นมา เราก็ไม่ต้องนำเงินเก็บมาเสียกับการรักษาพยาบาล

5.คำนวณสวัสดิการสุขภาพทั้งหมดที่มีอยู่

ไม่ว่าจะประกันสังคม หรือสวัสดิการต่าง ๆ ต้องให้แน่ใจว่าเพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาล ถ้าคิดว่ายังไม่เพียงพอ เราสามารถซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้ เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมตามที่เราต้องการ รวมไปถึงการซื้อเพื่อให้ได้สิทธิการดูแลและการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประกันแบบเหมาจ่าย ที่ไม่จำกัดจำนวนเงินค่ารักษาในแต่ละครั้ง แต่คุ้มครองเป็นวงเงินประกัน ทำให้เราสามารถอัปเกรดการรักษาของเราให้ดียิ่งขึ้น

6.เลือกความต้องการด้านสุขภาพให้เหมาะสม

ปัจจุบันประกันสุขภาพ มีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าต้องการความคุ้มครองอะไรบ้าง ผู้ป่วยนอก (OPD) ผู้ป่วยใน (IPD) หรือคุ้มครองโรคร้ายแรง (CI) ต้องการวงเงินความคุ้มครองเท่าไหร่ หรือรูปแบบความคุ้มครองยังไง เป็นแบบเหมาจ่ายต่อปี หรือแยกค่าใช้จ่าย ต้องการเงินชดเชยรายได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องถามตัวเองให้ดีก่อนเลือกทำประกันสุขภาพ

7.ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในระยะยาว

การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ เป็นการจ่ายแบบปีต่อปี ควบคู่ไปกับ “สัญญาหลัก” ยกตัวอย่างเช่น เราทำประกันชีวิตคุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปี จ่ายเบี้ยคงที่ 30 ปี และทำ “สัญญาเพิ่มเติม” พ่วงแบบประกันสุขภาพ ที่จ่ายเบี้ยปีต่อปีเหมือนกัน แต่อัตราค่าเบี้ยจะปรับตามช่วงอายุของผู้เอาประกัน จึงทำให้เราต้องมีการวางแผนในระยะยาวให้ดี ว่าเราต้องจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ในแต่ละปี และประเมินกำลังของตัวเองว่ามีความสามารถพอหรือไม่ เพราะหากจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว อาจทำให้เราเสียโอกาสด้านต่าง ๆ ไปได้ นอกจากเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นทุกปีที่เรามีอายุมากขึ้น เรายังจำเป็นต้องคำนึงถึงอายุและสุขภาพของตัวเอง เพื่อใช้ในการวางแผนและคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อไป
ดังนั้นการตัดสินใจว่าควรซื้อประกันสุขภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวเราเอง และความสามารถในการชำระเบี้ยที่จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปี เพื่อดูแลค่ารักษาพยาบาลในอนาคต แต่ไม่ต้องกังวลเพราะเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำไปลดหย่อนภาษี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมสรรพกร ได้อีกด้วย หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สามารถกรอกข้อมูลเพื่อรับการติดต่อกลับได้เลยนะ และแน่นอนว่าทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อประกันควรศึกษาผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อทุกครั้งนะ